วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

Philae lander

              องค์การอวกาศยุโรปประกาศความสำเร็จ ในการนำยานสำรวจ 'ฟีเล' ลงจอดบนดาวหาง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์...
           ในที่สุดก็สำเร็จ องค์การอวกาศยุโรป (ESA: อีซา) ประกาศเมื่อวันพุธ (12 พ.ย.) ว่า ยานสำรวจ 'ฟีเล' (Philae) ประสบความสำเร็จในการลงจอดอย่างนุ่มนวล (soft landing) บนดาวหาง '67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก' แล้ว หลังจากมันออกเดินทางจากโลกพร้อมกับยานอวกาศ 'โรเซ็ตตา' ยานแม่ของมันที่เดินทางออกจากโลก เพื่อไปสำรวจดาวหางดวงนี้เมื่อกว่าทศวรรษก่อน
            ไม่นานหลังจาก อีซาประกาศความสำเร็จของการลงจอด ระบบอัตโนมัติของยานฟีเล ก็ทวีตข้อความลงบนเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า "ลงสู่พื้น! ที่อยู่ใหม่ของฉัน : 67พี" ก่อนที่มันจะทวีตอีกข้อความในเวลาต่อมาว่า "ฉันอยู่บนพื้นผิวแล้ว แต่ฉมวกของฉันไม่ยิงออกไป" ทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการเชื่อว่า ฉมวกเจาะซึ่งมีสกรูคอยยึดยานฟีเล เข้ากับดาวหางทำงานผิดปกติ
           ทั้งนี้ ยาน ฟีเล ออกปฏิบัติการภายใต้ภารกิจ 'โรเซ็ตตา' ซึ่งเป็นโครงการที่นำโดย อีซาและหุ้นส่วนอื่นๆ รวมถึงนาซา โดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในภารกิจนี้ต่างคาดหวังที่จะรู้ส่วนประกอบของดาวหางดวงนี้ให้มากขึ้น และเรียนรู้ว่ามันตอบสนองต่อลมสุริยะ (solar wind) อนุภาคพลังงานสูงที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาอย่างไร
            ยานฟีเลมีน้ำหนักประมาณ 100 กก. มีขนาดใกล้เคียงกับเครื่องซักผ้า ติดไปกับด้านข้างของยานอวกาศ โรเซ็ตตา เดินทางข้ามระบบสุริยะเป็นเวลาถึง 10 ปี จนกระทั่งโรเซ็ตตาเดินทางถึงดาวหาง 67พี และยาน ไฟลี ก็แยกตัวออกจากยานแม่เมื่อวันพุธเวลา 3:30 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก เพื่อไปลงจอดบนดาวหางดวงนี้ และประสบความสำเร็จหลังใช้เวลาทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง

               แต่เนื่องจากแรงดึงดูดของดาวหาง 67พี อ่อนมาก ทีมวิศวกรจึงหาทางออกเพื่อให้ไฟลีสามารถยึดติดกับดาวหางได้ โดยขั้นแรกขณะที่ยานลงสัมผัสพื้นผิว ฟีเลจะยิงสว่านออกมา 2 ตัวจากขา ก่อนที่สกรูที่ขาทั้ง 3 ข้างของมันขันยึดติดกับพื้นผิว
ยานฟีเล มีอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบต่างๆ 9 ชนิด โดยตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของอีซา เซ็นเซอร์หลายตัวบนยานไฟลี จะตรวจวัดความหนาแน่นและสมบัติทางความร้อนของพื้นผิว ขณะที่อุปกรณ์วิเคราะห์แก๊สจะช่วยตรวจสอบและระบุสารประกอบที่มีความซับซ้อนต่างๆ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ จะช่วยตรวจสอบสนามแม่เหล็กและการตอบสนองของดาวหางต่อลมสุริยะ
            นักวิทยาศาสตร์พอใจกับความคืบหน้าในภารกิจนี้อย่างมาก โดยนาย แมตต์ เทย์เลอร์ นักวิทยาศาสตร์ของอีซากล่าวว่า ยานโรเซ็ตตา จะโคจรรอบดาวหาง 67พี เป็นเวลา 1 ปี เพื่อตรวจสอบปฏิกิริยาของมัน ขณะที่มันขับสสารจำนวนหลายร้อย กก.ออกมาทุกวินาที ในช่วงที่มันเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่ระยะทาง 180 ล้าน กม. ในฤดูร้อนปีหน้า.